ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องจัดทำใบกำกับภาษี และสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ส่วนสำเนาใบกำกับภาษีให้เก็บรักษาไว้
ใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
- คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้ชัด
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ออกใบกำกับภาษี
- ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการ
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- รายการในใบกำกับภาษี ให้ทำเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทยและใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิก
|
ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องการจัดทำใบกำกับภาษีรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน และใบกำกับภาษีมิใช่เอกสารฉบับแรกของเอกสารดังกล่าว ให้ปฏิบัติดังนี้ คือ
- ในใบกำกับภาษี และสำเนาใบกำกับภาษีของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ไว้ด้วย
- ในสำเนาของใบกำกับภาษี จะต้องมีข้อความว่า "สำเนาใบกำกับภาษี" ไว้ด้วย
|
ข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" และ "สำเนาใบกำกับภาษี" จะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำใบกำกับกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับและจะแก้ไขเพิ่มเติมด้วยวิธีประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด ไม่ได้